วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

หลงรัก ซูตองเป้

ตองเป้” สะพานไม้ไผ่ยาวสุดในไทย สร้างจากใจศรัทธา

 “เจอครั้งแรก ผมนี่หลงรักเลยครับ” 

ผมขอหยิบยืมคำพูดประสาวัยรุ่น มาบอกกล่าวถึงความรู้สึก เมื่อแรกพบกับเรื่องราวของ “สะพานซูตองเป้” แห่งนี้

เป็นรักแรกพบ...บทอันประทับใจที่ได้ปักหมุดให้สะพานแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ต้นๆในการไปเยือนแม่ฮ่องสอนครั้งต่อๆไป 



"ซูตองเป้" สะพานแห่งศรัทธา จ.แม่ฮ่องสอน


ซูตองเป้ สถานที่ท่องเที่ยวมาแรง แห่งแม่ฮ่องสอน


สะพานแห่งศรัทธา 


สะพานซูตองเป้ ตั้งอยู่ที่บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 8 กิโลเมตร

สะพานซูตองเป้ เป็นสะพานไม้(โครงสร้าง เสา-คาน)ส่วนพื้นปูด้วยไม้ไผ่ที่ทำในลักษณะพื้นสับฟาก พื้นขัดแตะ(เหมือนฝาบ้าน) และพื้นไม้ไผ่สาน มีความกว้างประมาณ 2 เมตร แต่ยาวถึง 500 เมตร ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย 



สะพานซูตองเป้ สร้างเชื่อมระหว่างสวนธรรมภูสมะกับบ้านกุงไม้สัก

สะพานแห่งนี้ เกิดจากแรงกายแรงใจของทั้งพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านกุงไม้สัก และคณะศรัทธาต่างๆ(โดยการนำของพระปลัดจิตตพัฒน์ อคคฺปัญโญ ประธานสงฆ์สวนธรรมภูสมะ)ที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นทอดข้ามแม่น้ำสะงาข้ามทุ่งนาของชาวบ้าน เชื่อมระหว่าง“สวนธรรมภูสมะ”สถานปฏิบัติธรรมอันปลีกวิเวกสงบ กับ“หมู่บ้านกุงไม้สัก” เพื่อให้พระภิกษุสามเณรจากสวนธรรมภูสมะเดินบิณฑบาต รวมถึงชาวบ้าน เกษตรกรที่อยู่ในบริเวณนั้นได้เดินข้ามสัญจรไป-มา

ซูตองเป้ เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จสัมฤทธิผล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สร้างจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเจ้าของที่นาได้ถวายผืนนาที่สะพานสร้างทอดผ่าน ส่วนคณะศรัทธาอื่นๆก็ได้บริจาคเสาไม้ บริจาคไม้ไผ่ แรงงาน และปัจจัยอื่นๆ ในการสร้างสะพานแห่งนี้ 



หัวสะพานซูตองเป้ฝั่งบ้านกุงไม้สัก

ส่งผลให้สะพานซูตองเป้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่มากไม่มาย เพียง 8 แสนกว่าบาท(ถ้าเป็นของทางราชการหรือนักการเมืองท้องถิ่นนี่คงปาเข้าหลายล้านเพราะต้องเสียค่าหักหัวคิวด้วย) ใช้เวลาก่อสร้างไม่นานราว 3 เดือนกว่า โดยได้ทำการวางเสาเอกในวันที่ 20 เม.ย. 2554 และทำการก่อสร้างเสร็จสิ้นเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ส.ค. 2554

หลังสะพานแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จนอกจากประโยชน์ด้านการสัญจรแล้ว ด้วยความสวยงามคลาสิกเป็นเอกลักษณ์ของสะพาน กับทำเลที่ตั้งที่มีทิวทัศน์สวยงาม รวมถึงวิถีปฏิบัติของพระ-เณรแห่งสวนธรรมภูสมะนั้นก็เปี่ยมศรัทธาน่าเลื่อมใส ส่งผลให้สะพานซูตองเป้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวข้นมาในเวลาไม่นาน 



ด้วยความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาสัมผัสในกับความงามของสะพานแห่งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาพของสะพานซูตองเป้ได้ถูกนำไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ มีการโพสต์ การแชร์กันอย่างกว้างขวาง นั่นจึงทำให้สะพานแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มาแรง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮอตในอันดับต้นๆของเมืองสามหมอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน



พระ-เณร ออกบิณฑบาตในยามเช้าตรู่



สะพานช่วงที่สร้างข้ามแม่น้ำสะงา



โครงสร้าง เสา คาน เป็นไม้ ส่วนพื้นเป็นไม้ไผ่



วัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสของพระ-เณรที่สวนธรรมภูสมะ



สะพานซูตองเป้ในมุมมองลงไปจาดสวนธรรมฯ



ภาพนักท่องเที่ยวกระโดดอย่างคึกคะนองบนสะพานไม้ไผ่ซูตองเป้ที่ถูกชาวเน็ตตำหนิกันเป็นจำนวนมาก(ภาพเผยแพร่โดยเพจ “ซูตองเป้ สวนธรรมภูสมะ พุทธศาสนสถาน”)


ดังนั้นการที่มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปกระโดด หรือวิ่งบนสะพานนั้น นับเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะนั่นเป็นการทำให้สะพานชำรุดทรุดโทรมเร็วขึ้น ซึ่งสำหรับคนที่มาเที่ยวสะพานแห่งนี้ เมื่อเราเข้าไปรบกวนสถานที่ปฏิบัติธรรมของบรรพชิตท่าน ก็จำเป็นต้องสำรวมทั้ง กาย วาจา ใจ จะถ่ายรูป เซลฟี่ ต้องทำอย่างสำรวม เหมาะสม

ที่สำคัญคือห้ามไปกระโดดบนสะพาน เนื่องจากจะทำให้สะพานชำรุดเร็วขึ้น เพราะสะพานซูตองเป้ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งธรรม ที่เชื่อมระหว่างโลกของบรรพชิตกับฆราวาส ดังนั้นคนที่ไปเที่ยวจำเป็นต้องเคารพสถานที่ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น