วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

สอนลูกเรื่องอาเซีย

บทนำ

Association of South East Asian Nations (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการรวมตัวกันของประเทศสมาชิก 10 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ก่อนปีพ.ศ. 2558 ประเทศไทยในฐานะสมาชิกได้เตรียมความพร้อมของประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้หน่วย งานทุกภาคส่วนให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนแก่ประชาชน พ่อแม่จึงมีส่วนร่วมทำหน้าที่สอนลูกให้รู้จักประชาคมอาเซียนเช่นกัน


การสอนเรื่องประชาคมอาเซียนมีความสำคัญอย่างไร?

ในปัจจุบันสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยี เด็กเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมย่อมที่จะต้องเรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ สำหรับสังคมไทยก่อนปี พ.ศ. 2558 จะต้องเตรียมความพร้อมตนเองเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งจะรวมตัวกันในปี 2558 เพื่อร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมาชิกอาเซียน เด็กปฐมวัยคือพลเมืองของประเทศไทย จึงได้รับผลกระทบเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งการเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการให้การศึกษา แก่ประชาชน เพราะการศึกษาจะช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ดังพระบรมราโชวาทของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2518 ความว่า “ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งของชีวิตและส่วนรวม คือ การศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคลและประเทศชาติ” ดังนั้นการให้เด็กไทยได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อทำความเข้าใจเรื่องของมนุษยชาติ ความเข้าใจนานาชาติ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สังคมวิทยา หน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และภาษา ซึ่งการสอนสังคมสมัยใหม่นั้น ต้องสอนเพื่อการรู้เท่าทันการเปลี่ยน แปลงสังคม และนวัตกรรม แนวคิดร่วมสมัยที่ควรนำมาใช้พัฒนาเด็กคือ ความเข้าใจเรื่องอาเซียนและการศึกษาเพื่อความเข้า ใจระหว่างวัฒนธรรม ส่วนสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมกันกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กไทยให้สอดรับกับประชาคมอาเซียนว่า เด็กไทยควรมีทั้งด้านความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ดังนี้
  • ด้านทักษะพื้นฐาน เช่น พูดภาษาได้อย่างน้อย 2 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านอาเซียนอีก 1 ภาษา
  • มีทักษะพลเมือง ได้แก่ เคารพและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  • มีทักษะการเรียนรู้และพัฒนาตน ได้แก่ เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
  • ด้านเจตคติ ให้มีความตระหนักในความเป็นอาเซียน มีความภูมิใจในความเป็นไทย เป็นต้น
คุณลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยที่ควรมีความสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ด้วยการส่ง เสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ดังนั้นการเตรียมเด็กปฐมวัยให้พร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งด้านความรู้ มีทักษะชีวิต ทักษะภาษา ทักษะการคิด และรักความเป็นไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

การสอนเรื่องประชาคมอาเซียนมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร?

การสอนเด็กเรื่องประชาคมอาเซียน ทำให้เด็กได้รับประโยชน์ดังนี้
  1. เด็กจะได้มีความรู้ที่เกี่ยวกับประเทศต่างๆที่เป็นประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ เช่น แต่ละประเทศมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร มีพลเมืองของตนเองที่แสดงออกทางวัฒนธรรมของตนเอง ประเทศเหล่านั้นเป็นเพื่อนบ้านกับประเทศของเรา
  2. เด็กจะได้มีโอกาสที่จะเพิ่มพูนทักษะภาษาอื่นที่จำเป็นในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ฯลฯ และจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาอาเซียนเพิ่มอีกตามความจำเป็นที่สภาพสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงไป
  3. เด็กจะได้รับการฝึกที่จะอยู่ร่วมกันและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมโลกที่แตกต่างกันหลายด้าน เช่น รูปร่างลักษณะ การแต่งกาย ศาสนา ภาษา วิถีชีวิต เป็นต้น
  4. เด็กจะได้รับการพัฒนาเจตคติที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยกัน
  5. เด็กจะได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เด็กคือผู้ได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเกิดความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การพัฒนาทักษะภาษา ทักษะชีวิตและการเห็นคุณค่าการอยู่ร่วมกันในสังคมอาเซียนอย่างสันติสุข

ครูสอนเรื่องประชาคมอาเซียนให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร?

ครูจะสอนลูกให้รู้จักประชาคมอาเซียน ผ่านกิจกรรมประจำวันจากตัวอย่างกิจกรรมดังนี้
  • กิจกรรมเสริมประสบการณ์ ครูอาจเล่าเรื่องประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมแสดงแผนที่ให้เด็กดู แนะนำให้รู้ว่านี่คือแผ่นดินที่อยู่ของเพื่อนบ้านเรา และการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนเราจะใช้สัญลักษณ์อาเซียน เล่าให้เด็กฟังว่าเราจะเห็นชนชาติอื่นมาทำงานหรืออยู่ในประเทศไทย มีชนชาติต่างๆโดยเฉพาะชนชาติที่เป็นประชาคมอาเซียน หรือครูอาจเล่านิทานนานาชาติให้เด็กฟัง เพราะนิทานจะสะท้อนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชนชาติต่างๆได้เป็นอย่างดี
  • ฝึกหัดเด็กให้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง และเพิ่มพูนภาษาอาเซียนอีก 1 ภาษา โดยเลือกภาษาที่เหมาะกับชุมชน เช่น หากโรงเรียนอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดน เช่น ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะอยู่ใกล้มาเลเซีย การเรียนรู้ภาษามาเลเซียจะได้ประโยชน์ต่อเด็ก หรือภาคตะวันตกประเทศไทยจะต่อแดนกับประเทศพม่า ครูจะสอนให้เด็กเรียนรู้ภาษาพม่า เป็นต้น การเรียนภาษาที่สองของเด็กปฐมวัยเป็นความจำเป็นในสังคมเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน และเด็กที่มีสองภาษาจะได้เปรียบกว่าเด็กภาษาเดียวในด้านสติปัญญาและการมีโอกาสที่ดีกว่า ครูอาจสอนภาษาอาเซียน เช่น คำทักทาย เป็นต้น
  • ให้เด็กลองรับประทานอาหารของชาติต่างๆเพื่อให้เด็กรู้จัก อาหารบางชนิดมีในร้านอาหารเมืองไทยแล้ว เช่น อาหารเวียดนาม อาหารลาว เป็นต้น
  • ครูอาจนำเด็กไปชมนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน ปัจจุบันโรงเรียนหรือหน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องประชาคมอาเซียน โดยวิธีการต่างๆรวมทั้งจัดนิทรรศการด้วย เมื่อนำเด็กชมนิทรรศการ ครูจะเล่าเรื่องประกอบง่ายๆเหมาะแก่วัยของเด็ก เช่น ภาพการแต่งกายของประเทศอะไร แสดงวัฒนธรรมของประเทศอะไร แสดงความดีงามอย่างไร ดอกไม้ประจำชาติ อาหารประจำชาติ เพลงประจำชาติ ชื่ออะไร เป็นของประ เทศใด เป็นต้น
  • กิจกรรมสร้างสรรค์ ครูอาจให้เด็กวาดภาพระบายสีการ์ตูนประชาคมอาเซียน หรือระบายสีธงชาติประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ
  • กิจกรรมเสรี ครูอาจจัดหาหนังสือไว้ในมุมหนังสือ ให้เด็กเลือกอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีหลายสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็กเรื่องดังกล่าว
  • กิจกรรมกลางแจ้ง อาจเล่นการละเล่นพื้นเมืองของประชาคมอาเซียน บางอย่างก็คล้ายการเล่นในประเทศไทย เช่น การ ละเล่นพื้นเมืองรำสีละ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และมีอยู่ทั่วไปในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะสอนลูกเรื่องประชาคมอาเซียนได้อย่างไร?

กิจกรรมส่งเสริมให้ลุกรู้จักประชาคมอาเซียนที่น่าสนใจมีอีกมากมาย ทั้งที่พ่อแม่สร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง และนำเด็กร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดขึ้นตลอดไปก่อนถึงปีพ.ศ. 2558 แนวทางการจัดกิจกรรมของพ่อแม่ที่ช่วยส่งเสริมหรือเพิ่มเติมให้ลูกมีดังนี้
  • พ่อแม่ควรศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนทั้งสิบประเทศ ทั้งเรื่องที่ตั้งหรืออาณาเขตของประเทศ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และ การเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง เพื่อนำมาถ่ายทอดให้ลูกผ่านกิจกรรมต่างๆในครอบครัว สิ่งสำคัญคือ การที่ลูกรู้อย่างถูกต้องจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมปรับตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • การมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน และแสดงออกให้ลูกเห็นอย่างจริงใจ จะเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยของการยอมรับสิ่งต่างๆของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
  • สภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีบุคคลอื่น ชนชาติอื่น มาในสังคมไทย ลูกจะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ เป็นนักค้นคว้า เพื่อใช้ข้อ มูลและต้องพึ่งตนเองให้ได้เร็วที่สุด จึงควรปลูกฝังให้รู้เป็นนักอ่านและใช้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์
  • พ่อแม่ต้องคำนึงว่าเด็กปฐมวัยยึดพ่อแม่เป็นแบบอย่าง พ่อแม่มีอิทธิพลในการฝึกให้เด็กรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพสัง คมที่มีชนชาติอื่นมาเป็นเพื่อน
  • สถานที่เด็กจะเรียนรู้เรื่องอาเซียนจะเป็นที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่บ้านเท่านั้น
  • กิจกรรมที่พ่อแม่จัดไม่ควรเคร่งเครียด ยึดหลักการยืดหยุ่น เพราะสภาพการณ์ที่จะมีเรื่องราวชนชาติอื่น อาจจะไม่เกิดในเวลาที่เราต้องการเท่านั้น
  • การสอนให้ลูกเป็นคนดี รู้จักผู้อื่น มีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกับสังคมโลก
  • เด็กควรเป็นผู้แสดงความต้องการจะเรียนรู้มากกว่าพ่อแม่ ดังนั้นเด็กคือผู้มีส่วนร่วมในการวางแผนจัดกิจกรรมได้
  • ให้มีบรรยากาศสบาย เรียนแบบไม่เรียน การจัดเป็นทางการควรเป็นบทบาทของครูมากกว่าพ่อแม่
  • การภาคภูมิใจในความเป็นไทยคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรปลูกฝังไว้ในจิตสำนึกของลูก
  • หากมีโอกาสควรนำลูกไปเที่ยวประเทศต่างๆที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เด็กเห็นสภาพจริงบ้าง เพราะเป็นประโยชน์ที่เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรง ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐคือองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือชื่อย่อว่า ท.ท.ท. และสถานประกอบการเอกชนจะเผยแพร่สถานท่องเที่ยว และจัดรายการท่องเที่ยวไปประเทศต่างๆเหล่านี้ การเดินทางสะดวก สบาย มีทั้งรถปรับอากาศ รถไฟ และเครื่องบิน พ่อแม่เลือกติดต่อได้ตามความต้องการ

เกร็ดความรู้เพื่อครู

ครูสามารถจัดสาระเรื่องประชาคมอาเซียนสำหรับเด็กปฐมวัยได้ โดยศึกษาจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 กำหนดสาระการเรียนรู้ 4 สาระ คือ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เช่น เด็กเรียนรู้ว่า ฉันมีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ เช่นนี้ ฉันเป็นคนไทย เชื้อชาติ อาจจะแตกต่างกัน ส่วนเพื่อนจากประเทศอาเซียน ก็มีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณต่างไป อาจคล้าย หรือแตก ต่างจากฉัน แต่ไม่ว่าชาติไหน เราต่างมีชื่อเรียก มีพ่อแม่ มีประเทศที่อยู่ ประเทศของฉันและเพื่อนมีธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อมเป็นอย่างไร ครูสอนได้จากสาระธรรมชาติรอบตัว ฉันและเธอมีวัฒนธรรม (ชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา การแต่งกาย สถาน ที่ในประเทศ ฯลฯ ) ครูสอนจากสาระการเรียนรู้ บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ฉันและเธอ เดินทางไปมาหาสู่กัน ติดต่อ กันได้ด้วยยานพาหนะ และเครื่องมือสื่อสารหลายชนิด คือ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เราเห็นภาพประเทศของกันและกัน เพราะเรามีกล้องถ่ายรูป มีอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ครูสอนจากสาระการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก โดยจัดการเรียนรู้ไว้ในกิจ กรรมหลัก หรือจัดการสอนแบบโครงการวิชาการให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี และโรงเรียนควรเพิ่มพูนความรู้สำหรับพ่อแม่ผู้ ปกครองเรื่องประชาคมอาเซียนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น